วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ต๋าแหลว

ความเชื่อ "ต๋าแหลว"
พิธีกรรมความเชื่ออยู่คู่สังคมมานานแล้ว จนบางครั้งแยกไม่ออกกับวิถีชีวิต แม่ฮ่องสอนช่วงนี้จะมีพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ "วานปลีก" หมายถึงพิธีกรรมในการสืบชะตาหมู่บ้านหรือเมือง โดยการจัดพิธีจะทำกันกลางหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า เข่งวานปลีก หรือหอวานปลีกนั่นแหละครับ เราจะเห็นผู้คนในชุมชนนำยอดไม้มงคล เช่น ปานเข มันเข ไม้กาง หนามเจ็ดเจื้อ หญ้าแพรก ใบฝรั่ง สามปู ผักกุ่ม โถ่เฮ่ (เดี๋ยววันหลังจะมาอธิบายชื่อ) ยอดไม้เหล่านั้นให้ครับว่ามีความหมายอย่างไร

"ต๋าแหลว" แขวนหน้าประตู หรือหน้าบ้าน


ยอดไม้ไม้มงคลนาม

วันนี้จะมาเล่าเรื่อง "ต๋าแหลว" ให้ครับ ทุกครั้งที่มีพิธีกรรมสำคัญ สำหรับชาวแม่ฮ่องสอน หรือชาวไตแล้ว เราจะเห็น "ต๋าแหลว" อยู่ในพิธีกรรมเสมอไป บางครั้งก็อยู่ในรูปการสานแบบตอกหกเส้น แปดเส้น หรือมากกว่านั้น หรือเหมือนรั้วตาข่าวที่ทำด้วยตอกนั่นแหละ ผู้รู้บอกว่าเป็นชนิดเดียวกัน

ข้อมูลนี้ผมสอบถามมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณตาทองดี หมู่บ้าน "กุงตึง" ถนนสายเลี่ยงเมือง แม่ฮ่องสอนนี่แหละครับ ในวันทำพิธีวานปลีิกหมู่บ้าน หรือพิธีกรรมสืบชะตาหมู่บ้านเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสสนทนากับคุณตาฯ เรื่อง "ต๋าแหลว" ว่ามีที่มาอย่างไร เหตุใดเราจึงเชื่อแบบนั้น ความที่เราสงสัยใคร่รู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย จริงๆ แล้วเราอยู่กับพิธีกรรมเหล่านี้มานาน แต่เราไม่เคยสงสัยหรืออยากรู้ความจริงเลยว่าเหตุใดเราจึงเชื่อสิ่งเหล่านี้ ส่วนมากเรามักไม่ค่อยถามถึงที่มาที่ไป แต่มักปฏิบัติตามๆ กันมา ตาทองดีฯ เล่าว่า

"สมัยก่อนคนไตก็มีเจ้าฟ้า เจ้าปกครองแผ่นดิน เหมือนชนชาติอื่นๆ นั่นแหละ การปกครองแบบโบราณมีลักษณะพ่อปกครองลูก เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็หมั่นดูแลเอาใจใส่ดูแลไพร่ฟ้าประชาชนเป็นอย่างดี มีวันหนึ่ง เจ้าแผ่นดินฯ อยากสืบราชการงานเมือง ก็ได้ปลอมตัวเป็นชาวบ้านออกเที่ยวสืบความดูแลทุกข์สุขของราษฎร ในเวลาพลบค่ำจึงเดินเที่ยวไปในเมืองพบเจอกับชายคนหนึ่ง ด้อมๆ มองๆ สอดส่องบ้านคนโน้นที คนนี้ที ก็เลยเข้าไปถาม "ท่านคิดทำอะไรอยู่" ชายคนนั้นตอบว่า เราดูว่าบ้านเหล่านั้นจะมีทรัพย์พอที่เราจะเข้าไปเอาได้หรือไม่ เจ้าแผ่นดินฯ ทำไมไม่เข้าไปเอาในหอวังหละ มีเยอะนะ ชายคนนั้นตอบว่า เข้าไปเอาได้ไง เป็นของเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เขาไปเอาก็หัวขาดนะสิ เจ้าแผ่นดินฯ รำพึง เอ้อ ขนาดเป็นโจรขโมยทรัพย์ของคนอื่นยังรู้จักที่ต่ำที่สูง ยังรู้ที่ควรไม่ควร (จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ของใคร) ก็ไม่ควรทั้งนั้นครับ พอสนทนากันไปมาเป็นที่ถูกใจของเจ้าแผ่นดินฯ ยิ่งนัก เจ้าแผ่นดินฯ ก็เลยขอไปเยี่ยมบ้านชายคนนั้นทันที เมื่อไปถึงบ้านชายคนนั้นก็สนทนาตามประสาแขกผู้มาเยี่ยมบ้าน สอบถามสารทุกข์สุกดิบควรแก่เวลา ก่อนกลับหอวังพระราชาก็แอบหักเอาตอกปักไว้ที่ประตูรั้วบ้านชายคนนั้นก่อนกลับเข้าเมือง

รุ่งเช้าก็สั่งให้ทหารไปนำตัวชายคนนั้นกลับมาที่หอวัง โดยบอกกับทหารที่จะนำตัวชายคนนั้นกลับมา ให้สังเกตุดูให้ดี บ้านชายที่จะนำตัวเข้ามาจะมีตอกสานเป็นสัญลักษณ์ปักไว้ที่เสาประตูรั้ว (เครื่องหมายที่เจ้าแผ่นดินฯ ทำไว้ตอนกลางคืน) เมื่อทหารทราบความจากเจ้าแผ่นดินฯ แล้วก็ได้นำตัวชายคนนั้นกลับมาอย่างถูกต้อง

ชายคนนั้นตกใจมากเมื่อถูกนำตัวกลับมายังหอวัง เขาไม่รู้ว่าเขาทำผิดอะไรถึงได้ถูกทหารนำตัวมาที่วังดังนี้ พอเจ้าแผ่นดินฯ ออกมายังท้องพระโรง ก็ได้ตรัสขึ้นว่า เมื่อคืนเจ้าพูดอะไร กับใคร จำได้ไหม ชายคนนั้นฯ ตอบว่า จำได้ข้า ข้าได้สนทนากับชายคนหนึ่ง เรื่องการออกสอดส่องตระเวณหาทรัพย์ชาวบ้าน แต่ได้ละเว้นไว้ ว่าจะไม่เอาทรัพย์ของเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เพราะมันเป็นของสูง ไม่เหมาะไม่ควร เจ้าแผ่นดินก็ตรัสว่า "ถึงแม้เจ้าจะเป็นชายผู้ลักทรัพย์เอาของคนอื่น เจ้ายังมีสัจจะ เจ้าก็ยังรู้สิ่งที่ควรไม่ควร ข้านี่แหละคือชายที่เจ้าสนทนาเมื่อคืน ตรัสเสร็จเจ้าแผ่นดินฯ ก็ปูนบำเน็จให้แก่ชายผู้นั้น เพื่อไปเป็นทุนประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป

ต่อมาชายผู้นั้นก็ไปประกอบอาชีพที่สุจริตจนมั่งคั่ง ต่อมาภายหลังได้นำทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้นั้นกลับมาถวายยังเจ้าแผ่นดินเพื่อใช้ในราชการงานเมืองต่อไป แผ่นดินก็สุขสงบร่มเย็น

พอชาวบ้านชาวเมืองรู้เรื่องนี้ต่างก็ประดิษฐ์ต๋าแหลวปักไว้ที่ประตูรั้วของบ้านเรือน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า บ้านหลังนี้พระราชา หรือเจ้าแผ่นดินได้หมายเอาไว้แล้ว แม้แต่ภูติผีปีศาจ ก็ต้องรู้ ห้ามมาทำการรบกวนบ้านเรือนเหล่านั้น

ดังนั้น "ต๋าแหลว" ที่แสดงเป็นสัญลักษณ์ว่าเจ้าแผ่นดินฯ ได้หมายเอาไว้แล้วและกลายเป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ใครทำไว้บ้านเรือนหลังนั้นก็จะประสบความสุขความเจริญ ไม่มีเหตุเพทภัยมารบกวน ผมก็ทราบความเอาตรงนี้แหละ

ดังนั้นพิธีวานปลีกหรือพิธีสืบชะตาบ้าน ชะตาเมือง หรือพิธีกรรมอื่นๆ จึงมีต๋าแหลวประกอบด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปตอกสานเป็นรูปหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม หรือมีลักษณะคล้ายตาข่ายตอกสาน

ทุกความเชื่อมีที่มาที่ไปเสมอ
ศักดิ์ไชย คำจิ่ง...........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น